เย็บกี่ (thread sewing)

นักอ่านหนังสือที่แม้จะไม่ถึงขนาดเป็นหนอนหนังสือ คงจะสังเกตเห็นความแตกต่างของการทำเล่มหนังสือในสมัยก่อนกับสมัยนี้ได้ว่า หนังสือในสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่ทำเล่มด้วยการเย็บกี่ ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานมาก ผิดกับหนังสือสมัยนี้ที่มักทำเล่มด้วยไสกาว เปิดหนังสืออ่านไปยังไม่ทันถึงครึ่งเล่มหน้ากระดาษก็หลุดจากสันออกมาเป็นแผ่น ๆ ทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ ในปัจจุบันแทบจะไม่มีหนังสือที่ทำเล่มด้วยการเย็บกี่แล้ว จึงไม่ค่อยมีใครรู้ว่า เย็บกี่คืออะไร

หนังสือที่วางขายอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนมากในขณะนี้มีการทำเล่ม (binding) ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การทำเล่มไสกาว (adhesive binding; perfect binding) การทำเล่มเย็บอก หรือ การทำเล่มมุงหลังคา (saddle binding) เย็บลวดสัน (side-stitch) เย็บลวดอก (saddle-stitch) การเย็บด้ายด้านข้าง (side sewing)

การเย็บกี่ (thread sewing) เป็นการทำเล่มโดยการเย็บด้ายวิธีหนึ่งในหลายวิธี ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักอ่าน หนังสือที่ทำเล่มด้วยวิธีนี้มีความทนทานและสามารถเปิดกางหน้าออกได้จนถึงสัน เนื่องจากใช้ด้ายเย็บอกที่กลางยกพิมพ์ (signature) แต่ละยกก่อน แล้วจึงเย็บหรือผูกรวมเป็นเล่ม การเย็บกี่เสียค่าใช้จ่ายสูงและสิ้นเปลืองเวลามาก จึงมีหนังสือที่เข้าเล่มด้วยวิธีเย็บกี่น้อยลง การเย็บด้วยวิธีนี้มักใช้สำหรับหนังสือที่มีความหนามากและต้องการความทนทานเป็นพิเศษ เช่น หนังสืออ้างอิงต่าง ๆ

ปัจจุบันมีการเย็บกี่ด้วยเครื่อง (smyth sewing) ซึ่งประหยัดเวลาและแรงงาน แต่การเย็บกี่ด้วยมือก็ยังได้รับความนิยม และถือเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีตและความชำนาญ ร้านรับทำเล่มและซ่อมหนังสือบางร้านก็ยังใช้วิธีการนี้อยู่ แต่มีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ